สเก็ตลีลาเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่บ้านเราอาจจะไม่นิยมเท่าไรเนื่องจากไม่ใช่เมืองหนาว แต่ต่างประเทศโดยเฉพาะฝั่งยุโรปนิยมมากเลยทีเดียว กีฬาชนิดนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างความอ่อนช้อยของร่างกาย ความยากของการร่ายรำ การทรงตัว หากใครติดตามเชื่อว่านอกจากความสวยงาม ความยากของท่าจะทำให้เราตื่นตาตื่นใจได้เสมอว่าทำไปได้อย่างไร วันนี้เราจะมาแนะนำท่าบังคับอีกหนึ่งท่าจากสเก็ตลีล
โทลูป สเกตลีลาคืออะไร
ท่าที่เราจะแนะนำ เรียกกันว่า โทลูป คำนี้เราอาจจะงงว่ามันคืออะไร อธิบายแบบง่ายๆ มันเป็นการกระโดดหมุนตัวกลางอากาศ แล้วลงพื้นอย่างสวยงาม โดยปกติเรากระโดดหมุนตัวบนพื้นธรรมดาแล้วให้ลงพื้นสวยงามก็นับว่ายากอยู่แล้ว แต่คราวนี้เราต้องมากระโดดโดยใส่รองเท้าสเก็ตน้ำแข็งที่ทรงตัวยาก พื้นน้ำแข็งที่ลื่นไปมา จากนั้นตอนลงพื้นต้องทิ้งน้ำหนักให้พอดีเพื่อรักษาสมดุลไม่ให้ล้มอีก ท่านี้จึงถือว่าเป็นท่ายาก ท่าบังคับของการแข่งขันสเก็ตลีลาเลยทีเดียว
วิธีการทำท่าโทลูป
ท่าเล่นโทลูปสำหรับสเก็ตลีลา ต้องบอกก่อนเลยว่าต้องฝึกฝนกันมาเป็นอย่างดี ไม่อย่างนั้นแล้วการกระโดดขึ้นมากลางอากาศแล้วลงมาผิดท่าอาจจะทำให้บาดเจ็บได้ง่ายเลย ท่าโทลูปนั้นวิธีการทำท่าเริ่มจากการไถลตัวไปด้านหน้า แล้วกลับตัวด้วยเท้าขวา จากนั้นใช้โทพิกส์เท้าซ้ายจิกพื้นเพื่อเตรียมจะกระโดด เมื่อได้จังหวะก็จะกระโดดขึ้นไปกลางอากาศพร้อมกับอาศัยแรงเหวี่ยงเพื่อหมุนตัวกลางอากาศ แล้วลงพื้นอย่างสวยงาม
ที่สุดของความยากการเล่นโทลูป
การเล่นท่าโทลูปนั้นจะมีการสร้างสรรค์ความยากขึ้นไปอีกหลายครั้ง จากเดิมที่มันถูกแสดงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1920 โดย บรูซ แมพส์ มีการพัฒนาท่าดังกล่าวให้ยากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว ที่มีการตั้งมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมกระโดดโทลูปเพียงแค่ครั้งเดียวก็ยากแล้ว ได้มีการพัฒนาทักษะให้สามารถกระโดดโทลูปหมุนได้ 1 รอบ 2 รอบ 3 รอบตามลำดับ ซึ่งจุดสูงสุดของการเล่นท่านี้ที่มีคนทำได้ก็คือการกระโดดโทลูปหมุนตัวได้ 4 รอบ (เรียกว่าท่า ควอดรุปเปิ้ล) ใครทำได้บอกเลยว่าสุดยอดมาก มีเพียงนักสเก็ตชายไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่ทำได้ แต่หากทำได้คะแนนความยากของท่านี้จะทำให้เค้ากลายเป็นผู้ชนะแบบไม่ต้อสงสัยเลย ปัจจุบันการตรวจจับความผิดพลาดของการแข่งสเก็ตน้ำแข็งลีลาทำได้ดีขึ้น ละเอียดขึ้น ทำให้นักกีฬาหลายคนเลี่ยงที่จะทำท่านี้เพื่อลดความผิดพลาดของตัวเอง (ส่วนใหญ่จะฝืนทำเพียงแค่ 3 รอบเท่านั้น) สำหรับการแข่งขันประเภทหญิงเดี่ยว ท่านี้ไม่นิยมเท่าไร ยิ่งการใช้ท่าโทลูปแบบ 4 รอบ ยังไม่มีใครทำได้เลยในระดับการแข่งขันนานาชาติ
การเล่นผสมผสาน
นอกจากการกระโดดโทลูปเพื่อหมุนตัวให้ได้จำนวนรอบมากที่สุดแล้ว อีกหนึ่งความยากของการเล่นท่าโทลูปนั่นก็คือ การประสานกัน นักกีฬาสเก็ตหลายคนได้หยิบโทลูปมาเล่นการผสานกับท่าอื่นมากกว่า อย่างเช่น การโทลูปแบบกระโดดเด้งไปมาหลายครั้ง (เหมือนกับเวลาเราปาหินให้กระดอนจากน้ำ) โทลูปแบบนี้อาจจะไม่เน้นให้กระโดดหมุนตัวได้หลายรอบต่อครั้ง แต่อาจจะเน้นการกระโดดหมุนตัวติดๆ กันมากกว่า เป็นอีกหนึ่งความยากที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการครีเอทท่าขึ้นมาผสมผสาน
การเล่นท่าโทลูปนับว่าเป็นอีกหนึ่งท่าพื้นฐานสำหรับการแข่งขันสเก็ตน้ำแข็งลีลา ที่เราในฐานะคนดูถ้าได้เห็นเมื่อไรมันก็น่าตื่นตาตื่นใจทุกครั้งไป ท่ายิ่งยากนั่นเท่ากับว่านักกีฬาคนนั้นฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง